โหลดที่มักจะเจอประจำสำหรับระบบโซล่าเซลล์ ชนิดหนึ่งก็คือ ปั้มน้ำนั่นเอง (Water Pump Solarcell) ซึ่งปัจจุบันมีหลายขนาดและหลายชนิดให้เลือกซื้อหา มาใช้กันภายในบ้านเรือนของเรา
โดยบทความนี้ผมจะมาพูดถึงชนิดปั้มน้ำสำหรับระบบโซล่าเซลล์ ก็คือ ปั้มน้ำที่ใช้ระบบไฟฟ้า ดีซี DC Pump 12v-24v รวมถึงข้อดีข้อเสียของปั้มแต่ละชนิดกัน ให้ท่านได้ตัดสินใจหามาใช้ให้เหมาะสมกับงานของท่าน

ชนิดของปั้มน้ำ สำหรับระบบโซล่าเซลล์ แบ่งออกเป็น 4 ชนิดใหญ่ ดังนี้
1.ปั้มหอยโข่ง โซล่าเซลล์
มีตั้งแต่ขนาดเล็ก 10w ไปจนถึงขนาดใหญ่ๆ 300w-500w ครับ เป็นปั้มชนิดติดตั้งบนพื้นดิน นิยมเอาไปดูดบ่อน้ำ บ่อปลา บ่อบาดาล ดูดขึ้นถังสูง ราคาถูกหาซื้อง่าย

ข้อดี
1.ราคาถูกหาซื้อง่าย ขนาดเล็ก – ไม่เกิน 1 แรงม้า
2.ได้ปริมาณน้ำมาก 1500ลิตร/ชั่วโมง – 3000ลิตร/ชั่วโมง
3.ดูแลรักษาง่าย อะไหล่เยอะ
ข้อเสีย
1.ต้องการรอบการหมุนจากเครื่องค่อนข้างมาก 1500รอบ/นาที ขึ้นไป
2.ดูดบ่อได้ลึกไม่เกิน 8 เมตร (ยกเว้นหอยโข่งชนิด เจ๊ตคู่ อันนี้ใช้ดูดน้ำลึกได้เป็น 35-100เมตร )
3.กินกระแสไฟสูง หากต่อในระบบโซล่าเซลล์อาจจะต้องใช้หลายแผง
4.ปั้มขนาดใหญ่ในระบบ DC หาซื้อยาก
2.ปั้มไดโว หรือป้มแช่ DC
มีหลากหลายขนาด ได้น้ำเยอะ แต่ส่งไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ ใช้งานง่าย ต่อสายเอาตัวปั้มไปจุ่มน้ำต่อท่อ ใช้งานได้เลย

ข้อดี
1.ใช้งานง่าย
2.ได้ปริมาณน้ำเยอะ
ข้อเสีย
1.ส่งน้าได้ไม่สูง ไม่เกิน 10 เมตร
2.เคลื่อนย้ายง่าย (ขโมยชอบนักแล)
3.ปั้มชัก ปั้มชัก+มอเตอร์ DC
ตัวปั้มประกอบกับมอเตอร์ DC ส่งกำลังด้วยสายพาน ทำให้หาซื้อง่ายประกอบเองก็ได้ ราคาถูก อะไหล่เยอะ

ข้อดี
1.ดูดได้ลึกประมาณ 10 เมตร ส่งได้สูงกว่า 10 เมตร
2.ตัวปั้มหาซื้อง่าย ราคาถูก อะไหล่เยอะ ตัวมอเตอร์ DC แอบแพงไปนิด
3.ใช้รอบต่ำ 400 rpm สูบน้ำได้ปริมาณคุ้มพลังงานที่เสีย
ข้อเสีย
1.ชิ้นส่วยสึกหรอง่าย แต่ทดแทนด้วยอะไหล่เยอะ
2.ตัวเล็กๆ จะมีปัญหาเรื่องความร้อน
3.เคลื่อนย้ายยาก ยิ่งตัวใหญ่ๆ หนักดีนักแล
4.ปั้มซัมเมอส โซล่าเซลล์ ปั้มบาดาล (DC Submersible Pump)
ถือว่าเป็นปั้มที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาสูงเช่นกัน มอเตอร์พังทีชั่งกิโลขายอย่างเดียว ซ่อมไม่ได้ เหลือแต่ชุดใบพัดที่ยังสามารถซ่อมได้ เพราะมอเตอร์ไม่สามารถพันได้ ต้องพันจากโรงงานและซีลกันน้ำจากโรงงานเท่านั้น

ข้อดี
1.ดูดได้ลึกมากๆ มีหลายขนาดให้เลือก
2.ได้ปริมาณน้ำเยอะ
ข้อเสีย
1.ราคาแพง ยิ่งระบบ DC แพงกว่า AC มาก หากสวนที่ใช้น้ำน้อยทุนไม่เยอะอาจไม่ค่อยคุ้ม
2.มอเตอร์หากเสียไม่สามารถซ่อมแซมได้
3.ใช้กำลังไฟเยอะ
*ขอบคุณเครดิตภาพบางส่วนมาจาก เว็บเกษตรพอเพียง , firesaver-cg.com
**ภาพและบทความนี้ขอสงวนสิทธิ์ หากต้องการนำไปใช้ให้ทำลิ้งค์กลับมาที่หน้าบทความนี้ด้วย ชนิดของลิ้งค์
dofollow เท่านั้น